BUSINESS [-33-] เริ่มต้นธุรกิจด้วย แฟรนไชส์ สบายจริงหรือ?

date_range 16 ม.ค. 2023
visibility 176 views

เริ่มต้นธุรกิจด้วย แฟรนไชส์ สบายจริงหรือ?

___________________________________________

ธุรกิจ แฟรนไชส์ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ตัวเองสนใจ ในแบบที่เหมือนเป็นธุรกิจกึ่งสำเร็จรูป ที่เราต้องลงทุนเงินไป แล้วสิ่งที่ตามมาคือการอบรม ดูแล ทั้งสอนการทำ ส่งวัตถุดิบ ตกแต่งร้าน หาทำเลที่ตั้งให้ด้วย ครบเครื่องในการทำธุรกิจแบบสำเร็จรูปโดยที่เราไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำให้เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่จะสำเร็จได้ง่ายๆจริงหรือ ก่อนเริ่มทำลองดูสิ่งนี้ก่อน

ธุรกิจแฟรนไชส์ FRANCHISE คือ ธุรกิจที่เจ้าของแฟรนไซส์ ตกลงให้ผู้ที่ซื้อแฟรนไซส์ประกอบธุรกิจได้โดยใช้รูปแบบ ระบบ ขั้นตอน และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในการประกอบธุรกิจได้ ด้วยเงื่อนไขด้านระยะเวลา หรือเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยการดำเนินการจะอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าของแฟรนไชส์นั้นๆ

FRANCHISE

แฟรน์ไชส์ มี 3 ประเภท คือ

1. PRODUCT AND BRAND FRANCHING คือ ผู้ผลิตให้สิทธิ์ในการขายสินค้าและใช้สัญลักษณ์แบรนด์ของตัวเอง เช่น ธุรกิจรถยนต์ เป็นต้น

 2. BUSINESS FORMAT FRANCHING คือ เจ้าของให้สิทธิในการดำเนินธุรกิจขายสินค้าหรือบริการและใช้สัญลักษณ์แบรนด์ของตัวเอง รวมไปถึงระบบการจัดการด้วย เช่น ธุรกิจอาหารฟาสฟูตส์ เป็นต้น

 3. CONVERSION FRANCHSING คือ เป็นแฟรน์ไชส์ที่พัฒนามาจาก BUSINESS FORMAT โดยออกแบบระบบเพื่อเปลี่ยนร้านค้าที่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว หันมาใช้ระบบแฟรนไชส์ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

FRANCHISE

ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นตัวอย่างธุรกิจใหญ่ๆ ที่ใช้เงินลงทุนที่สูง แต่จะมีอีกหลากหลายในปัจจุบันที่ธุรกิจขนาดเล็กก็สามารถทำแบบแฟรนไชส์ได้แล้ว เราจะดูอย่างไรว่าธุรกิจไหนเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งการดำเนินการจะแบ่งให้เห็นภาพง่ายๆ 3 ลักษณะ คือ

 1. เจ้าของสิทธิให้ความรู้หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ เหมือนเป็นการเรียนหลักสูตรที่เห็นได้มากมายตอนนี้ สิ่งที่ได้คือความรู้ สูตร เทคนิคต่างๆ การเลือก การคิดต้นทุน ในแพ็คเกจสอนอาจจะมีการให้อุปกรณ์รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีการลงทุนร่วมกัน ไม่มีการซื้อขายกันต่อ ซึ่งส่วนมากจะเป็นธุรกิจอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เป็นต้น

 2. การจัดตั้งสาขา ส่วนนี้เจ้าของจะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงาน บริหารงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ส่วนนี้จะมีกฎที่ต้องทำตาม หากละเมิดเจ้าของมีสิทธิถอดถอนการทำธุรกิจแฟรนไชส์จากผู้ซื้อได้ เช่น ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่มีแบรนด์ชื่อดัง เป็นต้น

 3. การร่วมลงทุน เป็นการร่วมกันเปิดธุรกิจใหม่ขึ้น โดยเจ้าของสิทธินั้นจะให้เงินช่วยลงทุนมา แล้วจะมีการแบ่งผลกำไรการดำเนินการกัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับคนที่มีต้นทุน โดยมีข้อดี คือ

  • ได้รับความรู้พร้อมเทคนิคต่างๆ เหมือนได้ทางลัดในการดำเนินธุรกิจ
  • มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องปั้นแบรนด์ใหม่ เพราะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว
  • คนเข้าร้าน สามารถคาดหวังได้เลยว่าเข้าไปจะได้เห็นสินค้า การบริการแบบไหน เหมือนเป็นการซื้อทั้งสูตร แบรนด์ และประสบการณ์ความสามารถของเจ้าของแฟรนไชส์ในการดำเนินธุรกิจไปด้วย
  • ประหยัดเวลาในการคิดค้นอะไรใหม่ๆได้อย่างดี
  • บางที่เลือกทำเลที่ตั้งให้ หรือช่วยแนะนำกรณีที่ไม่ใช่แฟรนไชส์ที่จัดตั้งสาขา ก็ช่วยให้เราได้มีทำเลที่ดีและได้รับคำแนะนำหรือการเลือกให้จากผู้มีประสบการณ์
  • ด้วยประสบการณ์ของบริษัทแล้วก็สามารถช่วยให้เรามีโอกาศสำเร็จมากขึ้นตั้งแต่เริ่ม

แต่การทำแฟรนไชส์ก็มีข้อเสียด้วย เช่น

  • ต้องมีเงินทุนระดับหนึ่ง เมื่อก่อนอาจจะหลักแสนหลักล้าน แต่ปัจจุบันมีแฟรนไชส์เล็กๆด้วยต้นทุนที่ถูกลงก็มี แต่ก็แลกด้วยความน่าเชื่อถือที่เราต้องเลือกเอง
  • ต้นทุนที่อาจจะสูงขึ้นเพราะมีค่าบริการในการการควบคุมดูแล การใช้แบรนด์ ค่าสินค้าที่ต้องรับมาจากเจ้าของแฟรนไชส์นั้นๆ
  • การบริหารงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ทำให้แบรนด์นั้นเสียไปเช่นกัน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังที่เราเคยคาดหวังรสชาติ ราคา ได้เมื่อเราเห็นป้ายเมื่อก่อน แต่หลังๆมานี้ การเห็นป้ายชื่อนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันก็เป็นไปได้ เพราะการควบคุมคุณภาพ สุตร วัตถุดิบ ที่ไม่ได้ทั่วถึง เพราะมีสาขามากมาย
  • การที่ผู้ซื้อธุรกิจนี้ไม่ได้รับความมีอิสระในการบริหารงาน หากเราเป็นคนที่ไม่ชอบกรอบ อยากแสดงความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ ก็ไม่ควรทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีกรอบในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญก็คือการอ่านสัญญาให้ชัดเจน ว่าเรารับกฎต่างๆได้อย่างเคร่งครัดหรือเปล่า
  • ระยะเวลาที่มีกำหนด อาจจะทำให้ไม่มีการต่อสัญญาแม้กิจการกำลังไปได้ดีก็เป็นได้ด้วยเช่นกัน
  • เมื่อมีการขายแฟรนไชส์มากขึ้น เราก็ต้องหาเจ้าที่ดีมีมาตรฐานน่าเชื่อถือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของเราในระยะยาวด้วย

เมื่อทำความรู้จักแบบคร่าวๆกันไปแล้ว สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนการเลือกลงทุนรูปแบบแฟรนไชส์ก็คือ สำรวจตัวเองก่อนว่าชอบทำแบบไหน มีเงินทุนเท่าไหร่ มีเวลาแค่ไหน อย่างได้ธุรกิจอะไร แล้วจึงไปเลือกหาในตลาดว่ามีธุรกิจอะไรบ้าง มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีการบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่มีแบรนด์มีขั้นตอนการดำเนินการมาด้วย ซึ่งจะสะดวกแต่ก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน บางทีเราอาจจะเหมือนเป็นการทดลองทำเล ทดลองตลาดให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ก็ได้ นอกการมาตรฐาน การบริหารแล้ว ยังต้องดูวิสัยทัศน์ผู้บริหารด้วย

น่าสนใจ

RELATED NEWS