BUSINESS IDEAS [-10-] มาทำความรู้จักธุรกิจ SME กันดีกว่า

date_range 9 ม.ค. 2023
visibility 207 views

มาทำความรู้จักธุรกิจ SME กันดีกว่า

___________________________________________

นักธุรกิจ หือคนที่กำลังจะทำธุรกิจ คงจะเคยได้ยินคำว่า ธุรกิจ SME ซึ่งถ้ามองรวมๆ มันก็คือธุรกิจขนาดเล็กๆ เท่านั้น แต่เมื่อมองลงไปให้ลึก บางทีก็ดูไม่ได้เล็กเท่าไหร่ แล้วที่บอกว่าเล็กนั้น เล็กขนาดไหนกัน? แล้วองค์ประกอบของคำว่า SME คืออะไร? มีอะไรบ้าง? แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง? วันนี้เราจะพาทุกคนมาสรุปข้อมูลมาให้ครบทุกด้านกัน

ธุรกิจ SME หรือ SMEs ย่อมาจาก Small and Medium Enterprises หมายถึงธุรกิจที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีความเป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรใดทั้งสิ้น ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. กิจการการผลิต หมายถึงการดำเนินธุรกิจแบบเป็นอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เหมืองแร่ และการแปรรูป โดยแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
  • ขนาดย่อย (Micro) รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 5 คน
  • ขนาดย่อม รายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้าน บาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 50 คน
  • ขนาดกลาง รายได้ต่อปี 100-500 ล้านบาท อัตราการจ้างงาน 50-200 คน
  1. กิจการการค้า ทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีก โดยแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
  • ขนาดย่อย (Micro) รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 5 คน
  • ขนาดย่อม รายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 30 คน
  • ขนาดกลาง รายได้ต่อปี 50-300 ล้านบาท อัตราการจ้างงาน 30-100 คน
  1. กิจการการบริการ เป็นธุรกิจการบริการทั้งหมด อย่างร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โดยแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
  • ขนาดย่อย (Micro) รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 5 คน
  • ขนาดย่อม รายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราการจ้างงานไม่เกิน 30 คน
  • ขนาดกลาง รายได้ต่อปี 50-300 ล้านบาท อัตราการจ้างงาน 30-100 คน

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีคำว่า ขนาดย่อย (Micro) ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นคำนิยามที่เพิ่มขึ้นมาจากคำว่า Small กับ Medium เพราะเมื่อสำรวจแล้วพบว่า ธุรกิจขนาดย่อย (Micro) นี้ มีจำนวนมากขึ้น และถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

การจดทะเบียน SME

registration

เป็น การสมัครสมาชิก สสว.หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งสสว.หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แน่นอนว่ารวมถึงขนาดย่อย Micro ที่เพิ่มเข้ามาในภายหลังด้วย) โดยการจดทะเบียนนี้ไม่ได้มีการบังคับ แต่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่สำหรับผู้ที่ลงทะเบียน

ประโยชน์ของการจดทะเบียน SME

ประโยชน์ของการจดทะเบียน SME

การจดทะเบียน SME นี้เรียกว่าเป็นการขอความร่วมมือ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้มีฐานข้อมูลธุรกิจ SME ในประเทศไทย เพื่อได้นำข้อมูลมารวบรวม ประมวล ให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน เพื่อสามารถนำมาวิเคราะห์และหาแนวทางในการสนับสนุน SME ได้ตรงตามเป้าหมายหลัก และตรงตามความต้องการที่แท้จริงในการทำโครงการสนับสนุน SME ต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในองค์รวม และผู้ที่จดทะเบียนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการส่งเสริมทั้งปัจจุบันและในอนาคตด้วย เช่น การฝึกอบรม การว่าจ้าง การกู้ยืม และอื่นๆตามโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นอีก เป็นต้น รวมถึงการได้รับข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ จากทาง สสว. ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการ เพราะการที่เราได้รู้ข้อมูล จะทำให้ประเมินแนวโน้มในการทำธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

3 คุณสมบัติที่สามารถจดทะเบียน SME ได้

small business

  1. ธุรกิจ SME กิจการการผลิตและการบริการ ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน และมีสินทรัพย์ถาวร(ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และกิจการการค้า มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน และมีสินทรัพย์ถาวร(ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 100 ล้านบาท
  2. สำหรับผู้ผู้ประกอบการชาวไทย ที่มีที่ตั้งสถานประกอบการที่ชัดเจน ทั้งกิจการที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล กิจการที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือกิจการของบุคคลธรรมดาที่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนใดๆ
  3. สำหรับผู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก การทำไม้ การประมงรวมถึงการเพาะสัตว์น้ำ ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล หรือจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน หรือการจดทะเบียนตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อประกอบกิจการภาคเกษตรดังกล่าว

ซึ่งกิจการที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น จะได้รับการโอนเข้าเป็นสมาชิก สสว อัตโนมัติซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ได้เลย ซึ่งทาง SME ต้องทำการเข้าไปกรอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสะดวกในการรับข้อมูลข่าวสารด้วย

ช่องทางขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME

ช่องทางในการขึ้นทะเบียน หรือจะทะเบียน SME นั้น สามารถทำได้หลายช่องทาง เพราะหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเพื่อได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ จึงได้มีการอำนวยความสะดวกไว้

  1. เว็บไซต์ สสว. (www.sme.go.th)
  2. ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ
  3. กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผปู้ระกอบการ SMEs แต่จะใช้กรณีมีการประชุมหรือการอบรมกลุ่มใหญ่
  4. ศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร ณ อาคารที่ตั้งสำนักงาน สสว. (เปิดบริการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 น. – 16.30 น.)

หากมีปัญหาระหว่างการสมัคร สารมารถติดต่อที่ สสว. Call Center 1301 ซึ่งการขึ้นทะเบียนทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย และปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารใดๆในการขึ้นทะเบียน เพราะจะทำในรูปแบบของการกรอกข้อมูลทั้งหมด แต่ต่อไปอาจจะมีการขอเอกสารนิติบุคคลหรือบัตรประชาชนร่วมด้วยก็เป็นไปได้

แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้มีการบังคับให้จดทะเบียน แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะต้องจดทั้งหมด เพื่อรับผลประโยชน์และการส่งเสริมต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐ ถือได้ว่าไม่ว่าจะจดวันนี้หรือวันหน้า ก็ไม่มีอะไรเสียหาย แถมเราเองก็จะได้รับข่าวสารต่างๆอีกด้วย

ข่าวดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจในการทำธุรกิจ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนในรูปแบบของ “บุคคลที่สนใจจะประกอบธุรกิจ” ได้ด้วยเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆด้านข้อมูล เพื่อการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจในอนาคต เรียกได้ว่าส่งเสริมการทำธุรกิจของคนไทยตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลยทีเดียว

น่าสนใจ

RELATED NEWS