BUSINESS [-29-] 10 MINDSET จากพนักงานสู่เจ้าของธุรกิจ

date_range 11 ม.ค. 2023
visibility 155 views

10 MINDSET จากพนักงานสู่เจ้าของธุรกิจ

___________________________________________

เจ้าของธุรกิจมือใหม่ ส่วนใหญ่ต่างก็ต่างเคยทำงานเป็นพนักงานประจำมาก่อน และเก็บความรู้ ประสบการณ์จากการทำงานเพื่อมาใช้ในการทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าพนักงานประจำทุกคนจะเหมาะกับการทำธุรกิจ และไม่ได้หมายความว่าการทำธุรกิจจะดีกว่าการเป็นพนักงานประจำ เพราะบางคนก็ร่ำรวยจากการทำงานประจำมีรายได้มากกว่าคนทำธุรกิจเช่นกัน แต่สำหรับใครที่อยากจะก้าวสู่เจ้าของธุรกิจเต็มตัว วันนี้เราก็มี 10 MINDSET จากพนักงานสู่เจ้าของธุรกิจ ดังนี้

1. เจ้าของธุรกิจ ต้องกล้าออกจาก COMFORT ZONE

LEAVE THE COMFORT ZONE

แน่นอนว่าคนที่ผันตัวเองจากการทำงานประจำ มาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองนั้น ย่อมเป็นคนที่กล้าออกจาก COMFORT ZONE อยู่แล้ว และยิ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากอีกด้วย จึงถือได้ว่าคนที่มีความกล้าที่จะออกจากสิ่งเดิมๆ ที่ตัวเองทำมาตลอด เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีเลยที่เดียว เพราะการทำธุรกิจนั้นจะต้องขยายตัวเองมากขึ้น อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ต้องมีการตัดสินใจหลายครั้ง และต้องออกจาก COMFORT ZONE หลายครั้งเลยทีเดียว

2. เจ้าของธุรกิจ ต้องรับผิดชอบทั้งบริษัท

executive

เมื่อตอนที่เราทำงานประจำ เราอาจจะรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย หรือส่วนงานของแผนกตัวเอง แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้รับผิดชอบทั้งบริษัท หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีกับบริษัทเราอาจจะได้รับผลกระทบในฐานะพนักงานที่ทำงาน เช่น ไม่ได้รับโบนัส ลดเงินเดือน ให้หยุดงานแบบไม่จ่ายค่าแรง ไปจนถึงโดนเลิกจ้าง แต่ในฐานะเจ้าของบริษัทไม่ได้กระทบแค่ตัวเราแค่คนเดียว แต่เราต้องรับผิดชอบชีวิตของคนอื่นๆ ในบริษัทด้วย เราอาจจะต้องยอมลดพนักงาน เลิกจ้างแบบต้องจ่ายเงินชดเชย และมีหนี้สินที่เราต้องรับผิดชอบมัน นี่เป็นเพียงกรณีที่ร้ายแรง เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเท่านั้น ว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น เราต้องรับผิดชอบทุกๆ อย่างจริงๆ

3. เจ้าของธุรกิจ ปล่อยมือจากงานให้ผู้อื่นทำได้

employee

ในการทำธุรกิจเรามันจะมีส่วนงานหลายอย่างที่เราไม่สามารถทำคนเดียวไหว จึงจำเป็นต้องจ้างพนักงานทั้งแบบประจำและแบบไม่ประจำมาช่วยทำ ซึ่งถ้าหากเราเคยเป็นพนักงานประจำมาก่อนคงจะทราบกันดีว่างานแต่ละส่วนต้องมีคนรักผิดชอบ และไม่สามารถทำคนเดียวได้ บางคนอยากทำงานที่ตัวเองถนัด อยากควบคุมงานเอง แต่เมื่อถึงเวลาที่เรามาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เราจะไม่มีเวลาทำและไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ ต้องเลือกคนมาทำงานให้ดี แล้วไว้วางใจ ปล่อยให้เขาทำให้อย่างสมบูรณ์ ส่วนเราก็รอดูผลลัพธ์ที่ได้

4. เจ้าของธุรกิจ ต้องรับความเสี่ยงได้

รับความเสี่ยงได้

ความเสี่ยงของเจ้าของธุรกิจจะมีมากกว่า และได้รับผลกระทบมากกว่าพนักงานประจำ เพราะตอนที่เราเป็นพนักงานประจำ การออกจากงานไปหางานใหม่นั้น แม้จะไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากเท่าการปิดธุรกิจนั้น แล้วมาทำธุรกิจใหม่ เรายังคงต้องรับผิดชอบส่วนอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่าย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องเตรียมพร้อมและยอมรับความเสี่ยงให้ได้มากขึ้น รวมถึงควรที่จะหาทางป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

5. เจ้าของธุรกิจ ต้องเปิดกว้างรับฟัง

รับฟังไอเดีย

เพราะเจ้าของธุรกิจไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุด และไม่ใช่คนที่เก่งทุกอย่าง ดังนั้นการที่จ้างพนักงานเข้ามาทำงาน สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การจ้างคนที่เก่งน้อยกว่าเรา แต่ควรจ้างคนที่เก่งในส่วนงานที่จะได้รับมอบหมายจริงๆ ซึ่งนั่นจะทำให้เราได้รับผลงานที่ดี และได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะการทำงานร่วมกันนั้นย่อมต้องเกิดจากความสบายใจในการทำงานถึงจะทำให้งานออกมาดี ทุกคนพร้อมที่จะทำให้บริษัทก้าวหน้า เราจึงควรเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นเสมอ เพราะหากเราไม่รับฟังใคร สิ่งที่เราจะได้คือ คนที่ทำงานตามคำสั่ง เท่านั้น

6. เจ้าของธุรกิจ ต้องเปิดรับความรู้ใหม่ๆ

เปิดรับความรู้ใหม่

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจที่เติบโตมากขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าคนประสบความสำเร็จหลายๆคน เป็นคนที่เปิดกว้างในการรับฟังคนอื่น และเรียนรู้อยู่เสมอ อย่างการเข้าร่วมงานสัมมนาเพิ่มความรู้ต่างๆ ถ้าไม่รวมการอบรมพนักงานที่บริษัทส่งไป เราจะเห็นว่าคนส่วนมากที่เราได้พบจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งสิ่งนี้หากใครที่ยังเป็นพนักงานประจำ แล้วมีความคิดอยากออกมาทำธุรกิจของตัวเอง การได้ออกไปอบรมสัมมนาในนามบริษัท ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะได้รับความรู้นั้นมาแบบฟรีๆ เลย เมื่อเราออกมาจะพบว่า การไปอมรมสัมมนาต่างๆ เราต้องจ่ายเงินเองทุกอย่างเลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจควรเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด

7. เจ้าของธุรกิจ ต้องรู้ทุกอย่าง แต่ไม่ต้องทำทุกอย่าง

เจ้าของธุรกิจต้องรู้ทุกอย่าง

การรู้ทุกอย่าง ไม่ได้หมายถึงการลงรายละเอียด แต่ต้องรู้ปัญหา การดำเนินการ และผลลัพธ์ เพราะหากเราไม่รับรู้แล้ว เราอาจจะบริหารบริษัทได้ไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้หากเราจะทำทุกอย่าง ธุรกิจก็อาจจะเติบไตช้า และดำเนินการไม่ทั่วถึง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการทำรายงานสรุปให้กับเจ้าของธุรกิจ อย่างที่เราเห็นๆ กัน เพราะเจ้าของนั้นต้องการรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบริษัทของตัวเองนั่นเอง

8. เจ้าของธุรกิจ ต้องรู้ว่าเวลามีค่า

ประชุม

ไม่ใช่แค่เวลาของตัวเองเท่านั้น แต่เวลาของพนักงานทุกคนก็เช่นกัน โดยเฉพาะในการประชุม ควรกระชับ และสรุปได้ เพราะเราจ้างคนมาทำงานให้เรา ควรให้พวกเขาได้มีเวลาทำงาน ไม่ใช่ใช้เวลาอยู่แต่กับการประชุม เราจึงควรเคารพเวลาของคนอื่น สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนเห็นคุณค่าของเวลาทั้งของตัวเอง ของผู้อื่น และของงานด้วย

9. เจ้าของธุรกิจ ต้องรู้ว่าการทำธุรกิจไม่สบายหรอกนะ

ทำธุรกิจไม่ง่าย

พนักงานบางคนรู้เหนื่อยหน่ายกับการเป็นลูกจ้าง เพราะโดนใช้งาน ต้องคอยรับคำสั่ง ทำผิดโดนตำหนิ งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน จึงอยากจะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ก่อนที่จะออกมาควรรู้ก่อนว่า การออกมาทำธุรกิจของตัวเองไม่ได้สบายกว่าการทำงานประจำเลย แต่ในทางตรงข้ามอาจจะลำบากกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่เป็นคนละแบบคนละบทบาทจากเดิมเท่านั้นเอง ดังนั้นหากคิดว่าจะออกมาเพราะงานเดิมลำบาก อาจจะต้องคิดพิจารณาใหม่จะดีกว่า แล้วลองคิดหาเหตุผลอื่นๆ ที่ว่าทำไมเราจึงอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทำไมเราจึงอยากจะออกมาเพื่อลำบากกว่าเดิม

10. เจ้าของธุรกิจ ต้องเป็นคนชัดเจน

เจ้าของธุรกิจ ต้องชัดเจน

เมื่อเราเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การวางเป้าหมาย และ การตัดสินใจ ยิ่งเมื่อเรามีพนักงาน หรือจ้างงานคนอื่น เราจะได้ผลงานตามที่ต้องการหรือไม่? ส่วนสำคัญหนึ่งก็คือ การที่เราบอกเป้าหมายของเราให้ชัดเจน ว่าเราต้องการอะไร? ต้องการงานแบบไหน? ผลลัพธ์แบบไหน? นี่เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าการบอกวิธีการว่าต้องทำอย่างไรเสียอีก ถ้าเราบอกคนอื่นว่า คุณต้องขับรถไปนะ ไปทางเหนือๆ แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่า จะไปจุดไหนของจังหวัดอะไร ย่อมเสี่ยงมากที่จะไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจจริงๆ และหลายครั้งที่คนอื่นต้องการการตัดสินใจจากเรา ใช่ ไม่ใช่ ได้ ไม่ได้ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ยิ่งเมื่อเวลามีปัญหา ความเด็ดขาด ชัดเจน เป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าเราอาจจะปรึกษาทีมงานทั้งหมดแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คือการตัดสินใจอยู่ดี แม้แต่การตัดสินใจว่าให้พนักงานคนหนึ่งเป็นคนตัดสินใจในการแก้ปัญหานั้นเอง ก็เป็นสิ่งที่เราตัดสินใจเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมรับผิดชอบสิ่งที่เราตัดสินใจลงไปด้วย

น่าสนใจ

RELATED NEWS