Mutual Fund [-1-] 3 สิ่ง ที่ต้องพิจารณาก่อน ลงทุนในกองทุนรวม

date_range 9 ธ.ค. 2022
visibility 172 views

 

3 สิ่ง ที่ต้องพิจารณาก่อน ลงทุนในกองทุนรวม

___________________________________________

ในการลงทุนนั้น เราต้องพิจารณาหลายอย่าง ก่อนที่จะมาตัดสินใจว่าจะลงทุนในการลงทุนประเภทไหน อย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยม และมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ก็คือ การลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่มาก เมื่อเทียบกับการลงทุนระยะสั้นแบบอื่น ๆ และเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนหุ้นแต่ละตัว ทั้งนี้ไม่ว่านักลงทุนประเภทไหนก็ตาม มักจะเลือกการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย แต่การลงทุนทุกประเภทจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนนั้น ๆ อีก ซึ่งเราจะยกตัวอย่าง 3 สิ่ง หลัก ๆ ดังนี้

  1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)​
  • ความน่าเชื่อถือ

ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากในการตรวจสอบใด ๆ เพราะ บลจ. นั้นมีความน่าเชื่อถือในตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. และมีการประกาศเป็นสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันอยู่แล้ว ซึ่งในการตรวจสอบทำได้ง่าย ๆ เพียงเข้าหน้าเว็บไซต์ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีรายชื่อหรือไม่ แต่ที่จำเป็นต้องให้พิจารณา เนื่องจากอินเตอร์เน็ตทำให้การเข้าถึงผู้คนทำได้ง่าย จึงมีผู้แอบอ้างจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ หรือเป็นบุคคลที่เรารู้จัก จึงควรตระหนักก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนว่า การดูแลกองทุนนั้นจะต้องได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องเสียก่อน โดยต้องมีหนังสือชี้ชวน รายละเอียดอย่างชัดเจน

  • ความสามารถในการบริหารกองทุน

ส่วนนี้สามารถดูได้จากสถานะทางการเงิน และประวัติในการลงทุนที่ผ่าน ๆ มาว่ามีการบริหารได้กำไรขาดทุนเท่าไหร่ อย่างตัวที่ได้รับการปันผล ก็สามารถดูประวัติย้อนหลังได้เช่นกันว่าที่ผ่านมามีการจ่ายปันผลได้เท่าไหร่ ตรงเวลา และจ่ายได้ทุกรอบหรือไม่ เป็นต้น หากเปรียบเทียบ จะคล้ายการดูผลประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนนั่นเอง

  • บลจ. มีความพร้อมในการให้บริการหรือไม่?

แน่นอนว่าก่อนการลงทุน จะต้องมีหนังสือชี้ชวน และมีผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับการฝึกอบรม รวมถึงมีใบอนุญาตในการแนะนำการลงทุนอย่างครบถ้วน ผู้ลงทุนนั้นควรศึกษารายละเอียดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ทาง บลจ. ต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุคลาการ เอกสาร ระบบ ขั้นตอนต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยต้องแจ้งรายละเอียดและให้เอกสารจำเป็นทั้งหมด ตามขั้นตอน รวมถึงต้องตอบคำถามทุกอย่างได้อย่างชัดเจน

  1. ต้องการลงทุนแบบไหน 
  • กองทุนเปิด (Opened - End Fund)

หากผู้ลงทุนยังคงต้องการสภาพคล่องอยู่บ้าง เพื่ออาจจะต้องการซื้อขายเก็งกำไร หรือต้องการเผื่อฉุกเฉิน ก็ควรที่จะเลือกการลงทุนแบบเปิด ซึ่งอาจจะมีระยะเวลาโครงการหรือไม่ก็ได้ และบางกองทุนสามารถเสนอขายเพิ่มได้ ส่วนผู้ลงทุนสามารถขายคืนได้ ตามเงื่อนไขของกองทุนนั้นๆอีกด้วย ซึ่งสภาพคล่องนี้ก็ไม่ได้เท่าเงินฝาก หรือไม่ได้มีการซื้อขายแบบรวดเร็วแบบการเทรดหุ้น แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมแต่พอมีสภาพคล่องอยู่บ้าง

  • กองทุนปิด (Closed - End Fund)

เป็นกองทุนที่มีกำหนดระยะเวลาของโครงการอย่างชัดเจน โดยจะขายคืนได้ก็ต่อเมื่อครบตามกำหนดเท่านั้น ซึ่งหากทางผู้ลงทุนไม่ได้มีความคิดที่จะขายคืนก่อนกำหนด ก็สามารถดูตามเงื่อนไขที่ทางกองทุนได้ให้ไว้ได้เลย ว่าแบบไหนที่ได้ผลประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการมากกว่ากัน

  1. นโยบายในการลงทุน กองทุนในแต่ละแบบนั้น มีการนำเงินไปลงทุนต่างกันไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีผลต่อ ผลกำไร ขาดทุน และความเสี่ยงด้วย โดยจะมีแยกประเภทหลักดังนี้
  • กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
  • กองทุนรวมผสม (Balanced Fund)
  • กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

นอกจากนี้ ยังมีแบบที่สามารถเลือกตามอุตสาหกรรม หรือแหล่งลงทุน เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมธุรกิจที่สนใจ หรือคาดว่าจะมีอนาคตที่ดี

  • กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund)
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF)
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund)
  • กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds)

หรือจะเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงที่จะเสียเงินต้นไป อย่างนโยบายคุ้มครองเงินต้นหรือ แบบที่มีประกันเพื่อรับรองการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบระยะเวลา ส่วนนี้ก็จะช่วยประกันความเสี่ยงกรณีที่กองทุนไม่มีความสามารถในการคืนเงินลงทุนได้เมื่อครบเวลาที่กำหนด

  • กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Principle or Capital Protection Fund)
  • กองทุนรวมแบบมีประกัน (Guarantee Fund) อีกด้วย

หรือหากต้องการลงทุนในกองทุนรวมที่เปรียบเสมือนการเทรดหุ้น ก็มีกองทุนที่เปิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็จะสามารถทำกำไรได้

  • กองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund)

ซึ่งประเภทของกองทุน ก็อาจมีการเพิ่มหรือลดประเภทของนโยบายการลงทุนได้อีกในอนาคต ตามแต่สถานการณ์บ้านเมือง หรือธุรกิจที่มีมาใหม่ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆอีกด้วย ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดในแต่ละประเภท ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ และตามสถานการณ์ที่ต้องการ เช่น หากต้องการรับปันผล ก็เลือกกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายปันผลด้วย ซึ่งสามารถดูระยะเวลาการจ่าย เปอร์เซ็นต์การจ่าย และประวัติที่ผ่านมาว่ามีการจ่ายตรงเวลา มีการพักการจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่ บ่อยแค่ไหน ซึ่งสามารถช่วยคาดคะเนอนาคตของผลประกอบการได้อีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การประเมินความเสี่ยงปัจจัยภายในของผู้ลงทุนเอง ควรประเมินจากสถานะทางการเงิน เป้าหมายที่ต้องการ และความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน(กรณีที่เลือกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ หรืออุตสาหกรรมนำเข้าส่งออก) เป็นต้น

น่าสนใจ

RELATED NEWS